การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี 2567
“กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2567 แล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดช่วงกลาง พ.ค. 67 คาดปีนี้ร้อนอบอ้าวทั่วไปทั้งฤดู แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี เป็น 5 จังหวัดร้อนจัดที่สุด อุณหภูมิสูงสุด 43.0-44.5 °ซ. โดยตั้งแต่ช่วงกลาง มี.ค.-ต้น พ.ค. อากาศจะร้อนอบอ้าวถึงร้อนจัด และอาจทำลายสถิติเดิมของประเทศที่เคยตรวจวัดได้ ปริมาณฝนโดยรวมจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่วนหน้าร้อนภาคใต้ปีนี้ ช่วงต้น พ.ค. เป็นต้นไป จะมีฝนเพิ่มขึ้น ตกต่อเนื่อง และตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร อาจมีการก่อตัวของพายุไซโคลนได้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมฯ เป็นระยะ”
วันนี้ (22 ก.พ. 2567) เวลา 08.30 น. ณ ห้องปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยานางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ถึง “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี 2567” ว่าประเทศไทยสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูร้อน 2 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ และ 2) พื้นที่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิวัดได้ตั้งแต่ 35 °ซ. ขึ้นไป จากนั้นจะสิ้นสุดฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2567 โดยปีนี้อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36-37 °ซ. ซึ่งสูงกว่าค่าปกติ และสูงกว่าปีที่แล้ว ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ 5 จังหวัดที่มีโอกาสร้อนจัดที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก และอุดรธานี ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.-ต้น พ.ค. สำหรับปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30
คาดหมายพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดอากาศร้อนจัด ประกอบด้วย ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิสูงสุด 42-44 °ซ. บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลางและตะวันตก อุณหภูมิสูงสุด 41-44 °ซ. บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ภาคใต้ อุณหภูมิสูงสุด 40-41 °ซ. บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และกรุงเทพมหานคร อุณหภูมิสูงสุด 40-41 °ซ.
ทางด้านภาคใต้ของประเทศไทย ช่วงปลายเดือนก.พ.-ปลาย เม.ย. จะมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ และร้อนจัดบางแห่งในบางวัน กับมีฝนตกร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ คลื่นลมในทะเลจะมีคลื่นสูง 1 เมตร จากนั้น จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะฝั่งตะวันตกจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น บางช่วงอาจสูง 2-3 เมตร
ในช่วงเปลี่ยนฤดูจากปลายฤดูหนาวไปต้นฤดูร้อน (ปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.) บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปะทะกับอากาศประเทศไทยที่เริ่มร้อนขึ้น และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากคลื่นกระแสลมตะวันตกที่พัดจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุม ช่วงกลางฤดูร้อน (กลาง มี.ค.-เม.ย.) มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกได้บางพื้นที่ โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อนในวันแรก ส่วนภาคเหนือ กลาง ตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะได้รับผลกระทบในวันถัดไป ทั้งนี้ บริเวณที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนรุนแรงส่วนมากอยู่บริเวณจังหวัดที่มีอากาศร้อนจัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวในช่วงท้ายของการแถลงว่า ช่วงฤดูร้อนนี้นอกจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนและสัตว์แล้ว ดัชนีความร้อน หรือ Heat Index คืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ว่าขณะนั้นอากาศร้อนเท่าไร เป็นสภาวะที่ทำให้ร่างกายเรารู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิตามจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนของกรมอุตุนิยมวิทยา (www.rnd.tmd.go.th/heatindexanalysis) ประกอบด้วยเพื่อใช้วางแผนกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และดูแลตนเองให้ปลอดภัยในฤดูร้อนนี้.
กรมอุตุนิยมวิทยา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
22 ก.พ. 2567
เกณฑ์อากาศร้อน ใช้อุณหภูมิสูงสุดประจำวันและใช้เฉพาะในฤดูร้อน (1) อากาศร้อน อุณหภูมิตั้งแต่ 35.0-39.9 °ซ. และ (2) อากาศร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 °ซ. ขึ้นไป