รองอธิบดีกรมป่าไม้ วอนอย่าตัดต้นตีนเป็ด ชี้มีประโยชน์มากกว่าโทษ ออกดอกแค่ปีละครั้ง ส่งกลิ่นปีละไม่กี่วัน แนะใครทนกลิ่นไม่ได้ หน้ากากอนามัยช่วยได้ระดับหนึ่ง อดทนได้ก็อดทน หากทนไม่ได้จริง ๆ ให้แจ้งกรมป่าไม้ จะส่งคนไปขุดย้ายไปที่เหมาะสม
วันที่ 6 พ.ย.64 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เวลานี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ไม้หลายชนิดเริ่มออกดอก โดยเฉพาะต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ ซึ่งเวลานี้กำลังเป็นประเด็นอยู่ในหลายพื้นที่ นั่นคือมีหลายคนรู้สึกว่า พญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด ให้ดอกที่มีกลิ่นแรง บางคนแพ้กลิ่น จึงตัดทิ้งเสียจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่พญาสัตบรรณเป็นไม้ยืนต้น ที่เป็นไม้ใหญ่ โตเร็ว มีคุณค่าทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูง จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหากตัดทิ้งไป
ต้องเข้าใจว่า เดิมทีนั้นต้นตีนเป็ดเป็นไม้ที่อยู่ในป่าดิบ ทั้งดิบแล้งและดิบชื้น แต่เมื่อราว 20 กว่าปีก่อน มีคนขยายพันธุ์เอามาปลูกในเมือง เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน โตเร็ว ลำต้นตรง มีลักษณะที่ดี แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสว่ากลิ่นของต้นตีนเป็ดรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้บางบ้านตัดทิ้งไป ทั้ง ๆ ที่เป็นไม้ใหญ่ กิ่ง ก้าน ใบ ให้ร่มเงาตลอดทั้งปี แต่เมื่อออกดอกจะส่งกลิ่นเหม็นอยากตัดทิ้ง ซึ่งความจริงแล้ว ตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ ออกดอกแค่ปีละครั้ง ครั้งหนึ่งมีระยะเวลาไม่นานนักราว ๆ ครึ่งเดือนเท่านั้น
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ดังนั้นใครหรือบ้านไหน ที่มีความคิดจะตัดต้นตีนเป็ดทิ้ง อยากให้ทบทวนความคิดดังกล่าวอีกครั้ง คิดให้ดีว่าตอนที่เอามาปลูกใหม่ ๆ ทำไมถึงเอามา เมื่อต้นออกดอกแค่ปีละครั้งที่ส่งกลิ่นปีละไม่กี่วัน แต่ในแง่การทำหน้าที่ในธรรมชาติ ต้นตีนเป็ดไม่เคยบกพร่อง ทั้งการเป็นไม้เบิกร่อง โตนำต้นอื่นเพื่อให้ร่มเงา ให้ไม้อื่น ๆ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ มีกิ่งก้านสาขาที่ให้ร่มเงา ที่สำคัญคือ แต่ละปีพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด นั้นผลิตออกซิเจนและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละหลายร้อยตัน
หากใครคิดว่าทนกลิ่นดอกตีนเป็ดไม่ได้ ก็ให้หลีกเลี่ยง ต่างคนต่างอยู่ การใส่หน้ากากอนามัยก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง อดทนได้ก็อดทน เพราะต้นไม้นี้จะออกดอกส่งกลิ่นไม่กี่วันเท่านั้น หากเทียบถึงคุณประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพถือว่าไม่คุ้มค่าหากต้องตัดต้นตีนเป็ด เพราะการรังเกียจกลิ่น ทั้งนี้บ้านใด พื้นที่ใดทนกลิ่นดอกตีนเป็ดไม่ได้จริง ๆ ให้แจ้งมาที่กรมป่าไม้ ทางกรมป่าไม้มีทีมสำหรับการขุดล้อมต้นไม้ที่ผ่านการอบรมมาแล้ว พร้อมจะไปล้อมต้นตีนเป็ดไปไว้ในที่เหมาะสม และห่างไกลจากผู้ที่ไม่ชอบกลิ่น ซึ่งการล้อม หรือการย้ายไปปลูกที่เหมาะสมย่อมดีกว่าการตัดต้นไม้ทิ้งอย่างแน่นอน
ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น
รับโค้ดฟรี : PPC3AMTFHNS9RL5
มูลค่า : 0.01 บาท
ระยะเวลา : 8 พ.ย. 2564 22:09 - 9 พ.ย. 2564 00:09
ใส่โค้ดที่ : https://www.adrepay.com/activity/facebook/award