นักเรียนหญิง 3 คน จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ. สุราษฎร์ธานี คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดนวัตกรรมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์น้ำกรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm Junior Water Prize) ที่ประเทศสวีเดน โดยใช้การเลียนแบบวิธีกักเก็บน้ำตามธรรมชาติของสับปะรดสี มาสร้างอุปกรณ์เพิ่มความชื้นในดินราคาถูก ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้
ผลงานนวัตกรรมดังกล่าว เป็นของ น.ส.สุรีย์พร ตรีเพชรประภา น.ส.ธิดารัตน์ เพียร และ น.ส.กาญจนา คมกล้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา โดยมีนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ และ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้เยาวชนไทยได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นปีแรกของการประกวด และนักเรียนทั้งสามได้เข้ารับรางวัลจากเจ้าชายคาร์ล ฟิลิปแห่งสวีเดนด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนผู้ได้รับรางวัลสังเกตว่าสับปะรดสีพันธุ์ Aechmea aculeatosepala มีรูปร่างที่ช่วยให้กักเก็บน้ำซึ่งได้จากฝนและไอน้ำในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนที่ช่วยดักจับน้ำหลายส่วน เช่น แผ่นใบที่มีขอบใบทั้งสองข้างบางกว่าบริเวณกลางใบ ทำให้แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปตัวยูเหมือนรางน้ำ ทำให้น้ำไหลไปกักเก็บที่แอ่งระหว่างกาบใบได้ ส่วนหนามเล็กๆ บริเวณรอบใบบิดทำมุม 50 องศากับขอบใบ ช่วยดึงน้ำที่อยู่ห่างจากขอบใบในระยะ 2 มิลลิเมตรให้เข้ามาในใบได้ นอกจากนี้ ผิวใบด้านหน้าและด้านหลังช่วยให้น้ำไหลลงไปรวมกันที่รางรับน้ำ เนื่องจากแรงยึดติด (Adhesive force) ระหว่างน้ำกับผิวใบ มีมากกว่าแรงเชื่อมแน่น (Cohesive force) ของน้ำ
กลุ่มนักเรียนได้ประดิษฐ์อุปกรณ์เพิ่มความชื้นในดินโดยใช้แผ่นอะลูมิเนียม ซึ่งมีความจุความร้อนน้อย ทำให้ในช่วงเวลากลางคืนเมื่อไอน้ำในอากาศมากระทบจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลงสู่ที่กักเก็บได้ง่าย นอกจากนี้ ยังทำส่วนกักเก็บน้ำให้เหมือนกับสับปะรดสีซึ่งมีใบเรียงเหลื่อมซ้อนกัน จนมีลักษณะเป็นแอ่งกักเก็บน้ำทรงกรวยกลางลำต้น และพื้นที่ระหว่างซอกใบทุกใบก็สามารถเก็บน้ำได้ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าภาชนะทรงกรวยที่มีขนาดเท่ากันถึง 17.28 %
เมื่อนำชุดอุปกรณ์นี้ไปใช้จริงโดยติดตั้งบนต้นยางพารา แล้วต่อสายพลาสติกปักลงในดินห่างจากโคนต้น 1เมตร พบว่า ความชื้นในดินของต้นยางพาราที่ใช้ชุดอุปกรณ์ จะมีค่าสูงกว่าความชื้นในดินของต้นยางพาราที่ไม่ใช้ชุดอุปกรณ์ 17.65 %และมีความชื้นในดินใกล้เคียงกับการรดน้ำตามปกติ นอกจากนี้ ต้นยางพาราที่ใช้ชุดอุปกรณ์สามารถให้ผลผลิตสูงกว่าต้นที่ไม่ได้ใช้ชุดอุปกรณ์ 57.50 % โดยอุปกรณ์นี้มีราคาต้นทุนชุดละเพียง 25 บาท เมื่อนำไปใช้กับต้นยางพาราเพียง 6 วัน ก็จะคุ้มราคาทุน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำแก่เกษตรกร ทำให้ปลูกพืชได้แม้ในสภาวะแห้งแล้งด้วย
ที่มา : บีบีซีไทย - BBC Thai