นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยหลังการประชุม NBTC Public Forum ครั้งที่ 2/2560 เรื่อง อนาคตเพย์ทีวี 4.0 กับสิทธิผู้บริโภคว่า ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเพย์ทีวีเข้ามาที่ กสท. แล้วประมาณ 100 ราย ซึ่งถึงแม้จะมีกฎหมายกำกับดูแล แต่หากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องสิทธิตามสัญญาที่สมัครสมาชิกไว้ได้
กสทช.แนะผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิตามสัญญาเพย์ทีวี เตรียมออกกฎหมายคุมยูทูบ กูเกิล
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตธุรกิจเพย์ทีวีจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการแบบเดิมต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ากว่า 50% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตดูรายการผ่านโทรทัศน์น้อยลง แต่หันไปรับชมวิดีโอผ่านมือถือมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรร่วมกับค่ายมือถือผลิตรายการร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในอนาคต
"ทั้งเพย์ทีวีและมือถือเป็นกลุ่มที่ กสทช.กำกับดูแลได้ เพราะธุรกิจทั้งสองประเภทต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. ส่วนเนื้อหารายการที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยูทูบ และกูเกิล กสทช. ยอมรับว่า ขณะนี้ไม่มีอำนาจกำกับดูแล แต่จะเร่งออกกฎหมายขึ้นมาควบคุม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี ในการออกกฎหมาย" นายประวิทย์ กล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีก่อนหน้านี้บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป ได้ยกเลิกการให้บริการกลุ่มช่อง HBO จำนวน 6 ช่อง โดยไม่แจ้งล่วงหน้าแก่ผู้บริโภค แต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กลับอนุมัติให้ดำเนินการ ก่อนมีบทสรุปเรื่องแผนเยียวยาลูกค้าที่มีประสิทธิภาพออกมา
ทั้งนี้ อยากเสนอให้แก้ไขกฎหมาย กสทช. ให้แยกหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรกำกับดูแลเพื่อลดปัญหาในการพิจารณา นอกจากนี้ควรแก้ไขกฎหมายให้การคุ้มครองผู้บริโภคทำงานโดยอิสระ รวมถึงทำให้กลไกรับเรื่องร้องเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งสามารถขยายขอบเขตของการพิจารณาตรวจสอบให้กว้างขึ้นเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป นอกจากนี้การฟ้องร้องได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นการฟ้องร้องรวมเป็นกลุ่ม ดังนั้นการแก้ไขเยียวยาก็ควรเป็นการเยียวยาเป็นกลุ่มด้วยเช่นกัน