นักวิทยาศาสตร์รู้อยู่เต็มอกว่าโลหะต่างๆ เช่น ทองคำ นิกเกิล แพลทตินัม ทังสเตน อิริเดียม เป็นต้น มีแนวโน้มชอบเข้าไปหลอมรวมอยู่กับแร่เหล็กซึ่งหลอมเหลวอยู่ตรงใจกลางโลก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เราไม่ควรจะพบโลหะพวกนี้บนพื้นผิวโลกเลย หรือถ้าพอจะมี ก็ควรมีอยู่น้อยมากๆ ไม่ใช่มีพอให้ขุดทำเป็นเหมืองกันทั่วโลกแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ดังนั้นจึงมีคนคิดทฤษฎีหนึ่งขึ้นมาโดยอธิบายว่าโลหะที่เราขุดมาซื้อขายกันแทบเป็นแทบตายทุกวันนี้จะต้องตกลงมาจากฟากฟ้าเมื่อ 3.8-4.0 พันล้านปีก่อน แต่อ๊ะ! มันไม่ได้ถูกพระเจ้าหรือเง็กเซียนฮ่องเต้โปรยลงมาหรอกนะ
ทฤษฎีนั้นบอกไว้ว่า ระบบสุริยะในยุคเริ่มต้นได้ถูกฝนอุกกาบาตเข้าระดมชน อุกกาบาตที่อุดมไปด้วยโลหะเหล่านี้นั่นเองที่นำแร่โลหะมีค่าเข้ามาโปรยไว้บนผิวโลก และเมื่อเร็วๆ นี้ทีมวิจัยที่นำโดย Matthias Willbold แห่ง University of Bristol สหราชอาณาจักร ได้เสนอหลักฐานชิ้นสำคัญที่สนับสนุนทฤษฎี "ทองคำจากอวกาศ"
หลักฐานของ Matthias Willbold ก็คือ ชั้นหินโบราณที่พวกเขาไปขุดมาจากภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ซึ่งมีอายุ 4.3 พันล้านปี (ก่อนการระดมชนของฝนอุกกาบาตในทฤษฎี) จากการวิเคราะห์ไอโซโทปของทังสเตน ผลปรากฏว่าชั้นหินของกรีนแลนด์มีสัดส่วนไอโซโทปของทังสเตน-182 ต่อ ทังสเตน-184 ต่ำกว่าชั้นหินสมัยใหม่จากที่อื่นๆ ประมาณ 13 ส่วนในล้าน (parts per million)
นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าฝนอุกกาบาตที่ระดมเข้าชนระบบสุริยะรวมทั้งโลกเมื่อ 3.8-4.0 พันล้านปีที่แล้วมีไอโซโทปของทังสเตน-182 น้อยกว่าทังสเตน-184 มาก ดังนั้นพวกเขาจึงสรุปทันทีว่าค่าแตกต่างระหว่างสัดส่วนไอโซโทปทังสเตนของหินยุคโบราณและยุคใหม่จะต้องเป็นผลมาจากการพุ่งชนของฝนอุกกาบาตแน่
จากการคำนวณด้วยตัวเลขที่มี ให้ผลออกมาว่า 0.5% ของมวลเปลือกโลก (รวมชั้นแมนเทิล) ในปัจจุบันมาจากมวลที่ฝนอุกกาบาตในครั้งโบราณเอามาเพิ่มให้ (ตัวเลข 0.5% อาจฟังดูไม่มาก แต่จริงๆ แล้วมันเท่ากับ 30 ล้านล้านล้านตัน!)
นอกจากหลักฐานชิ้นนี้แล้วนักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าร่องรอยการระดมชนของอุกกาบาตบนดวงจันทร์ก็เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ เพราะร่องรอยเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันพอดี