17 พฤษภาคมนี้ ร่วมสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่าของชาวล้านนา
ประเพณีเตียวขึ้นดอย พลังศรัทธาที่ไม่เคยเลือนหาย
นมัสการพระสถูปเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่
ก้าวสู่ปีที่ 65 ที่ทุกดวงใจเปี่ยมด้วยความศรัทธาแรงกล้า
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะร่วมสร้างมหัศจรรย์ครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นที่นี่
พลังศรัทธาที่ทุกคนนำขึ้นไป สามารถสร้างบุญใหญ่ร่วมกัน
ด้วยการนำขยะของคุณลงมาจากดอยด้วยตัวเอง
ร่วมสร้าวประวัติศาสตร์และ สร้างเส้นทางบุญปลอดขยะที่ดีต่อใจและดีต่อโลก
พลังศรัทธาสร้างมหากุศลได้ ไม่ใช่คุณ..แล้วใครจะสร้างมหัศจรรย์นี้ได้
ความเป็นมาของประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ
ประเพณีการเดินขึ้นดอยสุเทพนั้น เชื่อว่าคงจะมีการเริ่มกันตั้งแต่การเกิดเหตุการณ์ปาฏิหาริย์ที่องค์พระบรมสารีริกธาตุ วัดสวนดอกแยกออกเป็น 2 องค์ ทำให้พระเจ้ากือนา กษัตริย์ผู้ครองราชย์สมัยนั้น คิดหาสถานที่ที่จะสร้างวัดขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์หนึ่ง จึงทรงทำการเสี่ยงทายในวันวิสาขะบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของปีนั้น ทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล ถ้าช้างไปหยุด ณ จุดใด ก็จะใช้สถานที่นั้น เป็นที่สร้างวัดเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ช้างเสี่ยงทายเริ่มเดินออกจากวัดสวนดอก บ่ายหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพไปจนถึงยอดชั้นที่ 1 ชื่อดอยหมากขนุน หรือดอยช้างนูน และขึ้นต่อไปถึงยอดชั้นที่ 2 ชื่อดอยสนามยอด หรือดอยสามยอด ระหว่างทางช้างเกิดสั่นและหยุดพักช่วงหนึ่ง พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น ณ จุดที่ช้างพัก ปัจจุบันคือ วัดผาลาด เมื่อช้างหายเหนื่อยก็ลุกเดินต่อมุ่งหน้าไปจนถึงชั้นที่ 3 ชื่อว่า ดอยสุเทพ ซึ่งขณะนั้นมีฤาษีวาสุเทพนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำ ช้างก็ไปหยุดและตายที่นั่น พระเจ้ากือนาจึงทรงให้สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพขึ้นตรงจุดนั้น และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ และในปัจจุบันมีการปั้นรูปช้างอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
จากจุดที่ช้างเดินจากวัดสวนดอกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเส้นทางที่เรียกว่า ด่านช้าง ภายหลังจากที่สร้างวัดพระธาตุดอยสุเทพเสร็จแล้ว พระเจ้ากือนาก็ทรงใช้เส้นทางดังกล่าวนี้เดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ จนกลายมาเป็นประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพสืบต่อมา ด้วยเชื่อว่าจะทำบุญให้ได้กุศลแรงจะต้องเดินขึ้นไปทำบุญที่วัด
ประเพณีเดินขึ้นนมัสการพระธาตุดอยสุเทพในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 เรื่อยไปจนถึงเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นประเพณีที่ชาวเชียงใหม่ถือปฏิบัติสืบมาเป็นประจำทุปี เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นเอกลักษณ์พิเศษของชาวล้านนา
ต่อมาจุดเปลี่ยนแปลงของประเพณีเกิดขึ้นเมื่อปี 2477 เมื่อพระครูบาศรีวิชัยร่วมกับชาวล้านนาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เพราะเส้นทางเดิมที่ใช้เดินขึ้นดอยระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ลักษณะเป็นทางเดินเท้า ทั้งสูงชันและคับแคบ ดังนั้นเมื่อเดินทางไปก็จะต้องพักแรมอยู่นมัสการอบรมสมโภชเป็นเวลาหลายวันถึงจะเดินทางกลับบ้าน เส้นทางที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นนั้น ได้ชื่อว่า ถนนศรีวิชัย ซึ่งในตอนแรกที่ทำถนนเป็นถนนดินลูกรัง ต่อมามีการปรับปรุงเป็นถนนลาดยางในปี 2524 เมื่อพระธาตุดอยสุเทพเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
ตามเส้นทางถนนศรีวิชัย ไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ พระครูบาศรีวิชัยและชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด คือ วัดโสดาบรรณ ปัจจุบันคือวัดศรีโสดา วัดสกินาคามี ปัจจุบันคือวัดผาลาด และวัดอนาคามี โดยวัดอนาคามีได้กลายเป็นวัดร้างในปัจจุบัน
พระครูบาศรีวิชัย ได้เปรียบการเดินทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพไว้ว่าเป็นเสมือนการเดินทางไปสู่การ ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ของพระพุทธเจ้า โดยเปรียบเทียบวัดพระธาตุดอยสุเทพ คือวัดอรหันต์ ลักษณะการเดินทางจะเดินด้วยเท้า ถือประทีป ธูปเทียน เป็นริ้วขบวนประกอบด้วย พระสงฆ์เดินนำหน้าสวดมนต์ และประชาชนเดินตามหลัง โดยเริ่มขบวน ณ วัดศรีโสดา และนมัสการวัดสกินาคามี และวัดอนาคามี และเดินทางขึ้นไปนมัสการวัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังจากนั้นก็บำเพ็ญศีลวิปัสสนา ทำบุญตักบาตรในเช้าวันรุ่งขึ้น แล้วจึงเดินทางกลับ จึงถือว่าได้อานิสงส์แรง หรือได้ทำบุญมาก
ประเพณีการเดินขึ้นดอยในยุคหลังครูบาศรีวิชัย นำสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ นอกจากจะเป็นการเดินขึ้นไปปฏิบัติธรรม สักการะองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงพระคุณแห่งครูบาศรีวิชัย ที่ได้เป็นผู้นำในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนี้อีกด้วย